เมืองเก่าภูเก็ตมีพิพิธภัณฑ์และอนุสาวรีย์มากมาย ซึ่งเป็นสถานที่อันยอดเยี่ยมสำหรับการสำรวจประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้ตั้งอยู่ในอาคารทรงจีนโปรตุเกสหลังใหญ่ที่งดงาม และจัดแสดงมรดกด้านการขุดแร่ของเมืองเก่าภูเก็ตไว้อย่างน่าทึ่ง โดยเต็มไปด้วยรูปถ่ายและภาพสามมิติที่แสดงเทคนิคและกระบวนการขุดแร่ ตลอดจนแบบจำลองของเหมืองแร่ที่มีคนงานกว่า 100 คนกำลังทำงานอยู่ นอกจากนี้ยังจัดแสดงวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้น การเดินทางของพ่อค้าชาวจีน หมู่บ้านจำลองพร้อมร้านค้าต่างๆ โรงงิ้วจีน หรือแม้แต่ซ่องฝิ่น
พิพิธภัณฑ์ไทยหัวตั้งอยู่ในอาคารอายุกว่า 100 ปีที่งดงาม ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนจีนแห่งแรกในเมืองเก่าภูเก็ต พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มี 2 ชั้น โดยใช้รูปถ่ายและวิดีโอเพื่อย้อนกลับไปสำรวจการมาถึงของชาวจีนและการตั้งชุมชน การแต่งกาย อาหาร ประเพณี และสถาปัตยกรรมแบบจีน-โปรตุเกสในสมัยแรกๆ
อนุสรณ์ถึงการขุดแร่ดีบุกอีกแห่งหนึ่งคือ อนุสรณ์ขุดแร่สะพานหินที่ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะริมทะเล รูปปั้นหน้าตาประหลาดที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่าวงเวียนหอย สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงกัปตันเรือชาวออสเตรเลียที่ชื่อ เอ็ดเวิร์ด ที. ไมลส์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำแท่นขุดดีบุกเครื่องแรกมายังเมืองเก่าภูเก็ต
นอกจากนี้ยังมีพระใหญ่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ทำจากหินอ่อนหยกขาวจากพม่าที่งดงาม ประดิษฐานบนยอดเขานาคเกิดซึ่งมองเห็นได้จากพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเกาะ การก่อสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สูง 45 เมตรนี้เริ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 โดยใช้เงินจากการบริจาคทั้งหมด ในแต่ละปีจะมีผู้มาเยือนหลายพันคนที่มาเพื่อเคารพบูชาพระพุทธรูปและเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพแบบ 360 องศาที่มองเห็นหาดกะตะ หาดกะรน อ่าวฉลอง และเมืองเก่าภูเก็ต
ใน ค.ศ. 1758 พี่น้องสองคนคือคุณหญิงจันและคุณหญิงมุกสามารถยับยั้งการรุกรานของกองทัพพม่า ด้วยการชักชวนให้ผู้หญิงบนเกาะแต่งตัวเป็นทหารชาย ทำให้กองทัพพม่านึกว่าพวกนางเป็นกำลังเสริมจากเมืองหลวง จึงตัดสินถอนทัพไป วีรกรรมนี้ได้รับการจารึกไว้ในอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ที่วงเวียนถนนเทพกระษัตรี