นอกจากวัฒนธรรมและอาหารแล้ว ผู้อพยพชาวจีนที่เดินทางมายังภูเก็ตเพื่อสร้างตัวจากการขุดแร่ดีบุกยังได้นำศาสนาและประเพณีทางจิตวิญญาณของตนมาด้วย สิ่งเหล่านี้ยังมีอิทธิพลให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ในศาลเจ้าจีนอันมีสีสันหลายแห่งที่กระจายอยู่รอบเกาะ
ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยหลากสีสันของลัทธิเต๋า ตั้งอยู่บนถนนระนองในเมืองภูเก็ต ศาลเจ้าแห่งนี้นับถือเทพเจ้ากิ้วอ๋องแห่งการกินเจ และมีบทบาทสำคัญในเทศกาลกินเจ ศาลเจ้าแห่งนี้เดิมสร้างขึ้นที่ซอยรมณีย์ แต่ย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบันหลังจากศาลเจ้าเดิมถูกเพลิงไหม้
ศาลเจ้าอีกแห่งหนึ่งที่ถูกเพลิงไหม้ถึง 2 ครั้ง คือ ศาลเจ้าบางเหนียว ที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1934 ศาลเจ้าแห่งนี้มีอีกชื่อหนึ่งคือ “ต่าวโบ้เก๊ง” หรือ “ฉ้ายตึ๋ง” และเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าที่เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้นับถือประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน
ศาลเจ้าจีนปุดจ้อ เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในภูเก็ตซึ่งนับถือเจ้าแม่กวนอิม ผู้เป็นเจ้าแม่แห่งความเมตตา คนท้องถิ่นที่ทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยจะมาที่นี่เพื่อขอพรให้หายป่วย ส่วนผู้ที่เป็นพ่อแม่ก็จะมาที่นี่เพื่อขอชื่อสำหรับบุตรที่เพิ่งเกิด
ศาลเจ้าซำส้าน ตั้งอยู่ที่ถนนกระบี่ สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1853 นับถือเจ้าแม่หม่าโจ้ว ผู้เป็นเจ้าแม่แห่งท้องทะเล ที่นี่มีงานแกะสลักที่ปราณีตและมักจะทำพิธีอวยพรให้เรือใหม่ที่เริ่มออกสู่ท้องทะเล
ศาลเจ้าที่งดงามอีกแห่งหนึ่งคือ ศาลเจ้าแสงธรรม ซึ่งสร้างขึ้นโดยลูกหลานของชาวจีนฮกเกี้ยนใน ค.ศ. 1891 แต่เสมัยก่อนศาลเจ้าแห่งนี้เคยซ่อนอยู่ในตรอกแคบๆ ที่ดูแสนจะธรรมดา แต่ในปัจจุบันมีการขยายทางเข้าและตกแต่งด้วยเครื่องประดับสีสันสดใส